เกี่ยวกับเรา



มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ กับ สถานีวิทยุกระจายเสียง

ในราวปี พ.ศ. 2492 ขณะนั้นมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์มีอายุได้เพียง 6 ปี ท่านอธิการบดีในสมัยนั้น (อธิการบดี ม.ก. พ.ศ. 2489-2501) คือ ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (ทองดี เรศานนท์) ท่านต้องการจะส่งเสริมให้คนไทยเลี้ยงไก่เป็นการค้าและยึดเอาเป็นอาชีพหลัก ท่านเห็นว่าการที่จะส่งเสริมและเผยแพร่และชักจูงให้คนไทยหันมาสนใจในวิชาการ เลี้ยงไก่สมัยใหม่ มีช่องทางจะทำได้หลายวิธี มีอยู่วิธีหนึ่งที่เผยแพร่ได้เร็วและเข้าถึงประชาชนโดยทั่วไปได้ดี คือ วิธีการเผยแพร่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง แม้ว่าในขณะนั้นจะมีสถานีวิทยุกระจายเสียงไม่มากนักและเครื่องรับวิทยุก็มี ไม่มากเท่าปัจจุบันนี้ แต่ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ เห็นว่าการ

“…….ข้าพเจ้ามีความปรารถนาจะส่งเสริมการเลี้ยงไก่ให้เป็นการค้าและเป็นอาชีพแก่คนไทย และในการส่งเสริมนี้ปัญหาสำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การเผยแพร่ความรู้ทั้งในศิลปและวิทยาการเลี้ยงไก่ ให้แพร่หลายออกไป เพื่อให้คนไทยรู้จักวิธีการเลี้ยงดูไก่ให้ได้กำไรมาก ๆ ด้วยความประสงค์เช่นนั้น ข้าพเจ้าจะได้ลองตั้งโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้น โดยนำความรู้เรื่องไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้น โดยนำความรู้เรื่องไก่มากระจายเสียงเผยแพร่อาทิตย์ละครั้ง……

โดยมีความคิดเห็นเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงปรึกษาท่านอธิบดีกรมโฆษณา (กรมประชาสัมพันธ์ ปัจจุบัน) ลองตั้งโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้นชั่วคราว โดยมีความมุ่งหมายจะเผยแพร่ความรู้ในการเลี้ยงไก่ตามหลักวิชาสู่กันฟัง ถ้าปรากฏว่าเป็นประโยชน์และมีความนิยมก็จะได้บรรยายเรื่อยไป ถ้าหากไม่เป็นที่นิยมและไม่ได้ประโยชน์ ก็เลิกเสียภายหลัง ทั้งนี้โดยจะสดับตรับฟังและยึดถือประชามติเป็นเครื่องตัดสิน…….”

นอกจากจะบรรยายที่สถานีวิทยุกระจายเสียงของกรมโฆษณาแล้ว ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณฯ ยังได้ไปบรรยายเรื่องการเลี้ยงไก่ที่สถานีวิทยุ 1 ปณ. เป็นครั้งคราวอีกด้วย

โรงเรียนไก่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียง ได้รับความสนใจจากผู้ฟังอย่างกว้างขวาง ทั้งเกษตรกร ข้าราชการ พ่อค้าและประชาชนโดยทั่วไป เพราะท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจนั้น เป็นที่ทราบกันดีในยุคนั้นว่าท่านเป็นนักพูดที่หาตัวจับยาก ท่านพูดมีเนื้อหาสาระ เข้าใจง่าย เวลาท่านจะชักจูงหรือแนะนำให้ใครทำการเพาะปลูกหรือเลี้ยงสัตว์ ท่านจะเน้นให้เห็นว่า ถ้าทำแล้วผลจะออกมาเป็นเงินเป็นทอง เป็นบาทเป็นสตางค์ในทุกเรื่อง สมกับพระราชทินนามที่ได้รับคือ หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ (สุวรรณ = ทอง, วาจก = ผู้บอกกล่าว, กสิ = การเพาะปลูก, กิจ = งาน, พูดเรื่องการเกษตรให้เป็นเงินเป็นทอง)

มีอยู่ตอนหนึ่งท่านพูดไว้ในรายการโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียง เป็นคำพูดที่น่าจะนำมาเผยแพร่เพื่อที่พวกเรารุ่นหลังน่าจะปฏิบัติตาม ท่านได้พูดไว้ใน หนังสือกสิกร ปีที่ 24 หน้าที่ 11 ว่า

“……การที่ข้าพเจ้าลองเปิดแผนกโรงเรียนไก่ทางวิทยุกระจายเสียงขึ้นนี้ ข้าพเจ้าไม่ได้หวังเลยว่า จะสามารถให้ความรู้แก่ท่านผู้ฟัง ในเรื่องไก่ได้มากมายกว้าง ดังที่ท่านอยากรู้ หรือดังที่ข้าพเจ้าอยากให้ท่านรู้ ทั้งนี้เพราะความรู้อันจำกัดของข้าพเจ้าเอง และเวลาอันจำกัดของกรมโฆษณาการ เป็นอุปสรรคสำคัญที่คอยขัดขวางอยู่ แม้กระนั้นก็ตามข้าพเจ้ามาคิดว่า ถ้าหากข้าพเจ้าจะสามารถชี้ช่อง ให้บางท่านรู้ถึงวิธีที่จะหาความรู้ หรือเปิดกรุวิชาเรื่องไก่เอาเอง ได้บ้างก็ดี หรือถ่ายทอดความรู้เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ข้าพเจ้ามี และที่ข้าพเจ้าจะศึกษาต่อไป ให้แก่ท่านผู้ฟังได้บ้างก็ดี ก็นับว่าได้ประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายข้าพเจ้าได้รับ ความสุขกายสบายใจที่ได้ตอบแทนบุญคุณส่วนหนึ่งของชาติ และในเวลาเดียวกันได้กระทำส่วนหนึ่งของหน้าที่คือ เผยแพร่ความรู้เพื่อสาธารณประโยชน์……..

ข้าพเจ้ามีความเชื่ออย่างแน่วแน่ว่า การเลี้ยงไก่เป็นอาชีพจะทำได้ และเกิดขึ้นได้ในเมืองไทย ดังที่เป็นอยู่แล้วในประเทศอื่น ๆ …….” ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจได้ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงทั้งของกรมโฆษณาการ และสถานีวิทยุอื่น ๆ ในการเผยแพร่ความรู้เป็นประจำเท่าที่โอกาส และเวลาที่ทางสถานีวิทยุกระจายเสียงนั้น ๆ จะมีให้ และคงเป็นอธิการบดีคนเดียว ในขณะนั้นที่ไปนั่งบรรยายหรือสอนประชาชนทางวิทยุกระจายเสียง

ข้าพเจ้ามานั่งนึกว่า ถ้าอาจารย์พร สุวรรณวาจกกสิกิจ บุตรชายของท่านได้ตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขึ้น ในช่วงที่ท่านเป็นอธิการบดี น่ากลัวท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณฯ จะเดินจากที่ทำงานมาออกอากาศที่สถานีวิทยุ ม.ก. ทุกวัน และอาจจะวันละ 2-3 รอบก็ได้ เพราะเป็นที่ทราบกันดีว่า ท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณฯ นั้นเป็นทั้งนักวิจัยและนักเผยแพร่ที่มีวิธีการไม่เหมือนใครและเป็นนักพูด ที่มีวาทะศิลป์ในการจูงใจคน ให้คนคล้อยตามชนิดที่หาตัวจับยาก ถ้ามีกระบอกเสียง (สถานีวิทยุ) มาอยู่ใกล้ ๆ ท่านเท่ากับว่ามีของโปรดอยู่หน้าบ้าน

มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์โดยท่านอาจารย์คุณหลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ ได้ใช้สถานีวิทยุกระจายเสียงในการเผยแพร่ความรู้ไปสู่เกษตรกรและประชาชนโดยทั่วไปมาเป็นเวลาช้านาน ก่อนที่จะตั้งสถานีวิทยุ ม.ก. ขึ้นในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

 


View 190    เกี่ยวกับเรา